คณะสังคมศาสตร์มีงานบริการวิชาการที่ดำเนินการร่วมกับชุมชนและองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น หมู่บ้านของกลุ่มชาติพันธุ์จังหวัดต่างๆ ในเขตภาคเหนือตอนบน การวิจัยและบริการวิชาการสามารถทำให้นักวิชาการรับทราบถึงข้อมูลปัญหาของชุมชนที่ได้รับผลกระทบต่างๆ จากโครงการพัฒนาและนโยบายของภาครัฐ เช่น ปัญหาสิทธิที่ดินทำกิน และการต่อรองของชุมชนชาติพันธุ์ อันจะนำไปสู่การวิเคราะห์ปัญหาและหาทางออกร่วมกันกับชุมชน รวมถึงสามารถให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายแก่ภาครัฐอีกด้วย
องค์ความรู้ที่ชุมชนได้รับจากการบริการวิชาการสามารถส่งเสริมให้กลายเป็นชุมชนต้นแบบเพื่อรับมือกับปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิผล และยังสามารถนำไปขยายผลในพื้นที่อื่นได้อีกด้วย เช่น โครงการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ การเสริมสร้างศักยภาพชุมชนในการรู้รับปรับตัว (resilience) จากภัยฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยได้รับรางวัลในระดับนานาชาติ
นอกจากนี้ การบริการวิชาการของคณะฯ ยังมีการดำเนินการในรูปแบบการพัฒนาแอพพลิเคชั่นแก่ภาครัฐและชุมชน เช่น แอพพลิเคชั่นแสดงคุณภาพอากาศ ค่าฝุ่นละออง แอพพลิเคชั่นสำหรับเกษตรกรภาคเหนือเพื่อลดปริมาณปุ๋ยที่เป็นผลทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก แอพพลิเคชั่นช่วยในการให้น้ำสำหรับพืชแต่ละชนิด แอพพลิเคชั่นแสดงค่าคาร์บอนในดิน รวมถึงแอพพลิเคชั่นไฟดีซึ่งช่วยบริหารจัดการการเผาวัสดุเหลือใช้ในการเกษตรเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเข้าใจในการใช้ที่ดินของเกษตรกร