คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ศศ.ม. (สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา)
ชื่อย่อ M.A. (Sociology and Anthropology)
หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มีปรัชญาพื้นฐานที่ต้องการสร้างความรู้ความเข้าใจและทักษะในการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ทางสังคมวัฒนธรรมจากมุมมองของผู้ที่ถูกศึกษา เพื่อบรรลุเป้าหมายการสร้างเสริมสาขาวิชาการที่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนา และการเปลี่ยนแปลงสังคมและมนุษย์ หลักสูตรดังกล่าวจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาความรู้ด้วยการเน้นฝึกฝนทักษะทั้งทางด้านการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ รวมถึงทักษะของการสังเคราะห์ภาพรวมเชิงนามธรรม การพัฒนาองค์ความรู้ขึ้นมาจากประสบการณ์ในการวิจัยภาคสนาม ที่ให้ความสำคัญต่อความหลากหลายและซับซ้อนของปรากฏการณ์ทางสังคม วัฒนธรรมที่แตกต่างของกลุ่มชน การทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมซึ่งเป็นหัวใจของวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่จะนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับเงื่อนไขและปัญหาของสังคมในด้านต่างๆ ที่พัฒนาและกลั่นกรองมาจากประสบการณ์ในการทำวิจัยภาคสนามของคณาจารย์และนักศึกษา โดยเฉพาะปัญหาที่เกี่ยวข้องกับขอบเขตการวิจัย 4 ด้าน ได้แก่ 1) งานวิจัยและนโยบายสังคม 2) ชายแดนศึกษา 3) สภาวะข้ามชาติและการเดินทางเคลื่อนที่ และ 4) วัฒนธรรมศึกษาและสังคมร่วมสมัย ทั้งนี้ นอกจากพัฒนาศักยภาพของศาสตร์ในด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาแล้วยังทำให้เกิดความตระหนักเชิงจริยธรรมในฐานะที่เป็นสมาชิกของสังคมอีกด้วย
1. เป็นไปตามประกาศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง การรับนักศึกษาในแต่ละปีการศึกษา
2. สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา หรือสาขาวิชาอื่นที่สัมพันธ์กับสาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา โดยมีผลการเรียนดี มีค่าลำดับขั้นสะสมเฉลี่ย 2.75 ขึ้นไป หรือให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการบริหารหลักสูตรสาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
3. มีความรู้ภาษาอังกฤษตามผลสอบของ TOEFL ในระดับ≥ 500 หรือ ผลสอบ IELTS ≥ 5.5 หรือ TEG ≥ 65 หรือตามดุลยพินิจของคณะกรรมการบริหารหลักสูตรสาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
4. คุณสมบัติอื่นใดให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการบริหารหลักสูตรสาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา และให้เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2559
- อาจารย์สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา และสาขาสังคมศาสตร์
- นักวิจัยด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา และสังคมศาสตร์ในสถาบันวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชนในระดับชาติและระดับนานาชาติ
- ข้าราชการ นักวิชาการด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา และสังคมศาสตร์
- ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่องค์กรเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชนทั้งระดับชาติและระดับนานาชาติ
- สื่อมวลชน นักคิด นักเขียน และวิชาชีพอิสระ