คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ศศ.บ. (สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา)
B.A. (Sociology and Anthropology)
หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มีปรัชญาพื้นฐานที่มีลักษณะสำคัญ 3 ประการ
1. มุ่งทำความเข้าใจโครงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมและชีวิตของมนุษย์ที่มีความแตกต่างหลากหลายในสังคมที่มีบริบทพื้นที่และเวลาที่เฉพาะ
ผ่านการศึกษาแนวคิดทฤษฎีและผลงานทางวิชาการทั้งในระดับนานาชาติและระดับชาติ ทั้งนี้เพื่ออธิบายและวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างสมเหตุสมผล เข้าใจถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้อง และสามารถพัฒนาข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
2. สังคมและวัฒนธรรมมีพลวัตการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เนื่องจากปัจจัยหลายประการทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ศาสนา สื่อ เทคโนโลยี และอื่นๆ ที่มีความสัมพันธ์และมีอิทธิพลต่อกันและกัน ปัจจัยเหล่านี้ยังแบ่งออกได้เป็นหลายระดับ ทั้งในระดับโลก ภูมิภาค
ประเทศชาติและท้องถิ่น นอกจากนี้ความเป็นผู้ปฏิบัติการของปัจเจก กลุ่ม และเครือข่ายของผู้คนก็มีผลต่อการสร้างพลวัตการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
3. การทำให้เกิดสังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติและสร้างสรรค์ ต้องมุ่งเน้นให้เกิดการแลกเปลี่ยน วิพากษ์วิจารณ์ระหว่างกลุ่มคนที่มีแนวคิดและวัฒนธรรมที่หลากหลาย มีการประสานผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้มีส่วนร่วมในกิจการที่สำคัญต่างๆ ในสังคม
จากปรัชญาพื้นฐานที่มีลักษณะดังกล่าวนี้ ทำให้ทางสาขาวิชามุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ ความสามารถในการอธิบายและวิเคราะห์ประเด็นปัญหาและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม มีแนวคิดและทักษะในการพัฒนาองค์ความรู้และใช้แนวทางต่างๆ ในการแก้ไขปัญหา
และมีจิตสำนึกในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา
สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า
และมีคุณสมบัติอื่นตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าด้วยการศึกษาระดับปริญญาตรี พ.ศ. 2553 ข้อ 5
งานภาครัฐ
ผู้สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรนี้สามารถสอบเข้าทำงานในหน่วยงานภาครัฐได้ โดยเฉพาะตำแหน่งหน้าที่ใน กรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงวัฒนธรรม กรมราชทัณฑ์ กรมคุมประพฤติ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) นักสังคมสงเคราะห์ ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล
งานภาคเอกชน
พนักงานบริษัทเอกชน เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัยการตลาดและวางแผน เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัยและประเมินโครงการ พนักงานธนาคารและสินเชื่อ ผู้จัดการฝ่ายบุคคล เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ นักพัฒนาและเจ้าหน้าที่ในองค์กรพัฒนาเอกชน เป็นต้น
งานวิชาการและสื่อสารมวลชน
อาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการวัฒนธรรม ผู้ช่วยนักวิจัย นักเขียน นักข่าว บรรณาธิการหนังสือ เป็นต้น
งานอาชีพอิสระ
ผู้ประกอบการใหม่ (New Entrepreneurs) ผู้ประกอบการอิสระ (Freelancers) ผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัว เป็นต้น