ผู้สนใจสามารถอ่านบทความทางวิชาการในรูปแบบออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ https://so04.tci-thaijo.org/index.php/jss
สังคมศาสตร์ วารสารวิชาการคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปีที่ 36 ฉบับที่ 2 ฉบับนี้มีชื่อว่า “6 ทศวรรษ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” ในฉบับนี้จะอยู่ในบรรยากาศของการหวนทบทบทวนการเดินทางของภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เริ่มดำเนินการเรียนการสอนและกิจกรรมทางวิชาการมาตั้งแต่พ.ศ.2507
วารสารฉบับนี้ “6 ทศวรรษ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” จะพาผู้อ่านไปพบกับบทความ 3 บทความ ที่เก็บเนื้อหาสาระสำคัญจากคณาจารย์ของภาควิชา ในงานสัมมนาวิชาการ 60 ปี ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “On All (อ่องออ): สังคมวิทยา-มานุษยวิทยา ครบรส” โดย ณัฐินี สัสดี เป็นผู้ถอดความ จากนั้นวารสารฉบับนี้จะชวนผู้อ่านให้พินิจบทความอีก 3 บทความ ที่เกี่ยวโยงกับประเด็นเรื่อง “ความหวังและความเชื่อ”
วารสารฉบับนี้เริ่มต้นด้วยบทความที่เน้นทบทวนภารกิจทางวิชาการของภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากปาฐกถา “สังคมวิทยา-มานุษยวิทยา เชียงใหม่: ถึงไหน หรือ ไม่ถึงไหน?” โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ และศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยศ สันตสมบัติ อาจารย์ทั้งสองผู้อยู่กับภาควิชามาตั้งแต่ราวปลายพุทธทศวรรษ 2510
จากนั้นจะเป็นบทความ ที่เก็บเนื้อหาสาระจากวงสนทนาเพื่อทบทวนบทบาทของสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาในหัวข้อ “สังคมวิทยา-มานุษยวิทยา เชียงใหม่: ภารกิจแรกแห่งการขับเคลื่อน” โดยเป็นบันทึกจากทัศนะของอาจารย์ผู้เป็นวิทยากรเสวนา ได้แก่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.จามะรี เชียงทอง, รองศาสตราจารย์ ดร.ขวัญชีวัน บัวแดง และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิญญา เฟื่องฟูสกุล และบทความ “สังคมวิทยา-มานุษยวิทยา เชียงใหม่ ในบททบทวน: สู่ภารกิจใหม่ในวันพรุ่ง” โดย ศาสตราจารย์ ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, รองศาสตราจารย์ ดร.วสันต์ ปัญญาแก้ว, รองศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ คงทวีศักดิ์ และอาจารย์รังสรรค์ ประทุมวรรณ์
จากนั้นวารสารฉบับนี้จะพาผู้อ่านไปพินิจบทความในประเด็น “ความหวังและความเชื่อ” บทความในประเด็นนี้ทั้ง 3 บทความ จะไปสำรวจงานที่ศึกษาแง่มุมของความหวังของผู้คนในโลกที่ผู้คนต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อโอกาสในชีวิตที่ดีกว่าเดิม ผู้อ่านจะได้พบพานกับการต่อสู้ดิ้นรนและเสาะแสวงหาโอกาส ในบริบทสังคมทุนนิยมไทย และสังคมใหม่ของผู้เคลื่อนย้ายถิ่นและผู้ลี้ภัย โดยพื้นที่แห่งการดิ้นรนและพื้นที่แห่งความหวังในวารสารฉบับนี้มีทั้งบริบทสังคมไทย บริบทในสังคมเพื่อนบ้านอย่างทั้งในลาว เวียดนาม และกัมพูชา รวมถึงสังคมแคนาดา
ในบทความ “ระบบทุนนิยมของลัทธิพิธีความเชื่อ: กรณีศึกษาเทวาลัยจักรพรรดิ” โดย นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ ศึกษาการกระทำร่วม ตลอดจนสายสัมพันธ์ทางใจและอารมณ์ที่ก่อร่างสร้างตัวตนของเจ้าลัทธิพิธีและบรรดาศิษย์ ในบริบทที่ทุนนิยมไทยแยกไม่ขาดจากมิติความเชื่อทางศาสนา ในบทนี้ จะพาให้ผู้อ่านเห็นว่า ความเชื่อในบริบททุนนิยมไทยได้นำไปสู่ความหวังและกำลังใจที่จะต่อสู้ให้มีชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างไร
บทความ “ผู้ลี้ภัยจากอินโดจีนในประเทศแคนาดา: บทสำรวจเบื้องต้น” โดย จักรพันธุ์ ขัดชุ่มแสง ได้พาผู้อ่านไปสำรวจความรู้เกี่ยวกับผู้ลี้ภัยจากเวียดนาม ลาว และกัมพูชา ไปยังประเทศแคนาดา ในคริสต์ทศวรรษ 1970 ถึงทศวรรษ 1980 อันช่วงเวลาที่เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสงคราม ในบทนี้ผู้เขียนจะพาผู้อ่านไปสำรวจในแง่มุมต่างๆ โดยเฉพาะภูมิหลังการลี้ภัย การตั้งถิ่นฐาน การปรับตัว การบูรณาการ และการธำรงอัตลักษณ์เดิมในสังคมใหม่ และในบทความสุดท้ายของฉบับ “ปรากฏการณ์ความสิ้นหวังของนักเรียนยากจน อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น: การศึกษาเชิงปรากฏการณ์วิทยา” จุฑามาศ มาณะศิลป์ และศานิตย์ ศรีคุณ ศึกษาภาวะความสิ้นหวังจากการเรียนรู้ของนักเรียนยากจน ตลอดจนนำเสนอหนทางที่จะเปลี่ยนความสิ้นหวังไปสู่ความหวัง