พิธีหลื่อพือพะโดะมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อบูชาสักการะ แสดงความเคารพนอบน้อมต่อบรรพบุรุษในฐานะผู้มีพระคุณ คุ้มครองชุมชนให้รอดพ้นจากเพทภัยและภยันตราย ดูแลชุมชนให้อยู่ดีมีสุข ทำให้ลูกหลานมีผืนแผ่นดินอุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถหล่อเลี้ยงชีวิตได้อย่างเพียงพอและเชื่อว่าบรรพบุรุษจะอวยพรให้โชคลาภในวันพิธีดังกล่าวด้วย
นอกจากเป็นพิธีกรรมตามจารีตแล้วพิธีกรรมนี้ยังถือว่าเป็นกุศโลบายเกี่ยวกับการสืบสานประเพณีความรู้และภูมิปัญญา และที่สำคัญคือปลูกฝังและสร้างความตระหนักให้ชุมชนรักษาแผ่นดิน ผืนป่าและสายน้ำอันเป็นทรัพยากรที่เป็นบ่อเกิดของชีวิตและความอุดมสมบูรณ์ของโลกใบนี้ นับเป็นภูมิปัญญาความเชื่ออันดีงามที่ควรค่าแก่การสืบทอดและรักษาไว้
โดยชุมชนแม่วะหลวงคือชุมชนดั้งเดิมริมแม่น้ำเงาแห่งลุ่มน้ำยวม-สาละวินที่เคยเป็นทางผ่านของกองทัพทหารญี่ปุ่นเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่มีการย้ายที่ตั้งไปมาตามที่ทำกินในพื้นที่ละแวกนี้มาแล้วหลายจุด โดยจุดที่ตั้งชุมชนปัจจุบันมีอายุกว่าห้าสิบปีมีสมาชิกครัวเรือนราว 130 หลังคาเรือน อาชีพหลักคือทำนาและทำไร่หมุนเวียนสำหรับปลูกข้าวกิน ส่วนอาชีพเสริมคือปลูกบุก ถั่วเหลือง และพืชอื่น ๆ สร้างรายได้ และที่สำคัญคือยังมีการพึ่งพาผืนป่ารอบชุมชนและแม่น้ำเงากับแม่น้ำยวมตามฤดูกาล
ทั้งนี้พื้นที่ชุมชนบ้านแม่วะหลวงยังอยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยงจะได้รับผลกระทบจากโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้แก่เขื่อนภูมิพลหรือโครงการผันน้ำยวม สาละวิน อีกด้วย