วันที่ 26 มกราคม 2566 หลั่งข่างหรือเลี้ยงผีเสื้อบ้าน
“หลั่งข่าง” คือภาษากะเหรี่ยงโผล่งที่แปลว่าว่า เลี้ยงผีเสื้อบ้าน เป็นพิธีเลี้ยงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยปกป้องคุ้มครองชาวบ้านแม่งูดให้อยู่ดีมีสุข ปลอดภัยจากภยันตรายและเรื่องร้ายต่าง ๆ
ชาวบ้านแม่งูดเชื่อว่าผีเสื้อบ้านเป็นวิญญาณของบรรพบุรุษที่สถิตอยู่ในป่า ในบริเวณที่ผีเสื้อบ้านอยู่จึงเป็นพื้นที่ป่าที่เป็นป่าศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของชาวบ้าน โดยผีเสื้อบ้านของชุมชนแม่งูดคือเก๊าผีของผีบรรพบุรุษในพื้นที่ละแวกนี้ ซึ่งถือเป็นผีอาวุโสสุดต้องเลี้ยงเป็นพื้นที่แรก จากนั้นชุมชนใกล้เคียงจึงจะสามารถเลี้ยงผีเสื้อบ้านของแต่ละชุมชนต่อได้ พื้นที่ป่าศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของชุมชนแม่งูด
เป็นป่าที่รู้กันว่าไม่มีใครมีสิทธิ์แตะต้องทำลายได้ ลักษณะป่าในพื้นที่จุดนี้จึงอุดมสมบูรณ์กว่าพื้นที่อื่นใกล้เคียง มีความหลากหลายทางทรัพยากรธรรมชาติสูง โดยมีพืชพรรณเช่น ไม้เปา ไม้สัก ไม้ดู่ ไม้แงะ ฯลฯ และมีสิ่งชีวิตต่าง ๆ เช่น นก หนู ตุ่น งู รวมถึงแมงและแมลงชนิดต่าง ๆ
ในอดีตชุมชนบ้านแม่งูดมีพื้นที่ป่าศักดิ์สิทธิ์ของผีเสื้อบ้านราว90 ไร่ บริเวณใกล้จุดบรรจบระหว่างห้วยแม่งูดและแม่น้ำปิง แต่หลังจากมีการสร้างเขื่อนภูมิพล ซึ่งไม่เพียงเป็นสาเหตุที่ทำให้ชาวบ้านแม่งูดต้องโยกย้ายถิ่นฐาน แต่ยังทำให้น้ำจากเขื่อนหนุนขึ้นมาท่วมพื้นที่ป่าศักดิ์สิทธิ์ด้วย ผู้นำทางจิตวิญญาณจึงจำเป็นต้องทำพิธีย้ายพื้นที่ป่าศักดิ์สิทธิ์ ปัจจุบันพื้นที่ป่าศักดิ์สิทธิ์นี้เหลือเพียงราว 20 ไร่
ทั้งนี้ตลอด 3 เดือนระหว่างตุลาคม-ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา พื้นที่ส่วนหนึ่งของบ้านแม่งูด รวมถึงพื้นที่ป่าศักดิ์สิทธิ์ผีเสื้อบ้าน
ได้กลายเป็นพื้นที่รับน้ำหนุนจากเขื่อนภูมิพลเพื่อปกป้องน้ำท่วมหนักในพื้นที่ใต้เขื่อนหรือพื้นที่ภาคกลางซึ่งก่อให้เกิดความกังวลกับชาวบ้านจำนวนมากว่าจะว่าจะดำเนินพิธีกรรมตามความเชื่อที่อยู่คู่กับชุมชนต่อได้อย่างไร แต่ชาวบ้านบอกยังโชคดีที่น้ำลดระดับลงก่อนถึงวันกำหนดทำพิธีกรรมของชุมชน
อย่างไรก็ตามชาวบ้านก็ยังมีความกังวลอยู่ไม่น้อย เพราะสถานการณ์ใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่อย่างโครงการผันน้ำยวม หรือ “โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม - อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล” ที่ต้องการให้บ้านแม่งูดเป็นพื้นที่รับน้ำยวมที่จะผันผ่านอุโมงค์ข้ามภูเขามาจากลุ่มน้ำสาละวินไปยังลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งยังไม่สามารถคาดเดาอะไรได้ว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป ประวัติศาสตร์การถูกผลักออกจากถิ่นฐานจะซ้ำรอยหรือไม่