ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก่อตั้งขึ้นและเริ่มเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนมาพร้อม ๆ กับการสถาปนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คือวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2507 สังคมวิทยา (Sociology) และ มานุษยวิทยา (Anthropology) เป็นวิชาความรู้ที่พัฒนาขึ้นมาจากบริบทประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงเข้าสู่โลกสมัยใหม่ ซึ่งย้อนกลับไปกว่า 50 ปีที่แล้ว จึงถือว่าเป็นสาขาวิชาใหม่สำหรับสังคมไทย
นานกว่า 5 ทศวรรษที่ผ่านมา ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มุ่งเปิดหลักสูตรการเรียนการสอน งานวิจัย และงานบริการวิชาการ ที่มีมาตรฐานระดับนานาชาติ ทั้งตอบสนองต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาของมหาวิทยาลัยและของประเทศ และสอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก การเรียนการสอนจึงมีเป้าหมายเพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณธรรม ความรู้ ความสามารถ รู้จักคิด กล้าวิพากษ์อย่างสร้างสรรค์ สามารถรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง และประยุกต์ใช้ทักษะความรู้ในการประกอบอาชีพ และในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้คนได้อย่างสันติ มีความสุข และสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม
บัณฑิตสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สามารถที่จะประกอบอาชีพได้หลากหลาย คือ
(1) งานภาครัฐ ใน กระทรวงมหาดไทย (กรมการพัฒนาชุมชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงยุติธรรม (กรมราชทัณฑ์ กรมคุมประพฤติ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ) กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ งานสังคมสงเคราะห์ในโรงพยาบาล และองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น เป็นต้น
(2) งานภาคเอกชน อาทิ เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัยการตลาดและวางแผน เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัยและประเมินโครงการ ฝ่ายวิจัยการตลาด ฝ่ายวิจัยประเมินโครงการ ฝ่ายบุคคล ฝ่าย CSR ความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทเอกชน พนักงานธนาคารและสินเชื่อ ฝ่ายบุคคล เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ เป็นต้น
(3) งานวิชาการและสื่อ ได้แก่ อาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการวัฒนธรรม นักเขียน นักข่าว บรรณาธิการหนังสือ เจ้าหน้าที่ในองค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรภาคประชาสังคม เป็นต้น