“เขื่อน” วาทกรรมการพัฒนาของรัฐแต่คือโศกนาฏกรรมของประชาชน
เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าแห่งแรกในประเทศไทยคือ เขื่อนภูมิพล ซึ่งสร้างเสร็จในช่วงปี 2507 เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ประเทศไทยกำลังเริ่มต้นแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพและปริมาณของผลผลิตทางการเกษตร การขยายตัวของอุตสาหกรรมและเน้นกิจการด้านพลังงานและสาธารณูปโภคอื่น ๆ ด้วยเหตุนี้ การสร้างเขื่อนจึงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามทิศทางนโยบายการพัฒนาประเทศ จนปัจจุบันนี้มีเขื่อนขนาดใหญ่กระจายขึ้นทั่วทุกภูมิภาค กว่า 39 เขื่อน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสานที่การสร้างเขื่อนมักมาพร้อมกับวาทกรรมการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง
เขื่อนจึงกลายเป็นภาพตัวแทนการพัฒนาเพื่อการเกษตรและความเจริญ ตลอดเวลาร่วม 60 ปีของการสร้างเขื่อน รัฐมักจะหยิบยกผลดี และเรียกร้องให้คนท้องถิ่นเสียสละ ทว่า คนท้องถิ่นและสังคมก็ล้วนถามว่า ใครได้ประโยชน์จากการเสียสละ กรณี เช่น เขื่อนปากมูล จังหวัดอุบลราชธานี เริ่มสร้างในปี 2534 แล้วเสร็จในปี 2537 โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อ้างว่าจะช่วยผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 136 เมกะวัตต์ และสร้างพื้นที่ชลประทาน 160,000 ไร่ แต่ในปัจจุบันพบว่า เขื่อนสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ไม่เกิน 40 เมกะวัตต์ และปัจจุบันยังไม่มีโครงการโดยตรงเกี่ยวกับชลประทานเกิดขึ้น และในทางกลับกัน มีชาวบ้านได้รับผลกระทบกว่า 1,700 ครอบครัว ที่ต้องสูญเสียบ้าน ที่ดินทำกิน แม่น้ำมูลสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ ระบบนิเวศถูกทำลาย ชาวบ้านสูญเสียอาชีพประมง อันนำไปสู่การขาดความมั่นคงทางอาหาร
กรณีเขื่อนราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ เริ่มสร้างในปี 2535 แล้วเสร็จในปี 2536 ทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่ทำกิน ป่าบุ่งป่าทามของชาวบ้านกว่า 50,000 ไร่ ชาวบ้านสูญเสียที่ดินทำกิน สูญเสียทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ รวมทั้งก่อให้เกิดปัญหาดินเค็มชาวบ้านไม่สามารถทำนาและเพาะปลูกได้ ปัจจุบันชาวบ้านรวมตัวเรียกร้องค่าชดเชยจากการสูญเสียที่ดินและเรียกร้องให้มีการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และกรณีเขื่อนหัวนาเริ่มสร้างปี 2535 แล้วเสร็จปี 2538 โดยมีขนาดใหญ่กว่าเขื่อนราษีไศลถึง 2 เท่า จึงต้องมีการอพยพชาวบ้านจำนวน 2 หมู่บ้าน และเกิดน้ำท่วมพื้นที่ 5 อำเภอในจังหวัดศรีสะเกษ ปัจจุบันผ่านมาแล้วกว่า 30 ปี ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบได้เรียกร้องค่าชดเชย การเยียวยา แต่เต็มไปด้วยความยากลำบากทั้งที่เป็นสิทธิที่พวกเขาพึงจะได้รับอย่างเป็นธรรม
ที่ผ่านมา ได้มีข้อเสนอให้ทบทวนการจัดการน้ำขนาดใหญ่หรือการสร้างเขื่อนไปสู่การสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กตามความจำเป็นของแต่ละพื้นที่ และรัฐควรคำนึงถึงการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง รวมทั้งการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมควรจะต้องดำเนินไปบนหลักจริยธรรมและข้อมูลที่ครบถ้วนและรอบด้าน แต่ข้อเสนอเหล่านี้กลับไม่มีน้ำหนักให้รัฐใคร่ครวญและดำเนินการบนหลักการธรรมาภิบาล