หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสังคมศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ)

ชื่อหลักสูตร

ชื่อปริญญา

ปรัชญา

หลักสูตรนี้มีปรัชญาพื้นฐานที่มุ่งให้มีการบูรณาการทฤษฏีและองค์ความรู้ทางสังคมศาสตร์ในสาขาวิชาต่างๆ ทั้งสาขาภูมิศาสตร์ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา สตรีศึกษาและเพศภาวะศึกษา และชาติพันธุ์สัมพันธ์ ในการทำความเข้าใจและวิเคราะห์ความสลับซับซ้อนของปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสังคม ซึ่งเกิดจากปฏิบัติการของการพัฒนาในด้านต่างๆ เช่น นโยบายของรัฐ ระบบกฎหมาย การเมืองและการปกครองความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้า แบบแผนการผลิตทางการเกษตร อุตสาหกรรม และการบริการ การบริหารและการจัดการทรัพยากร-สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม ตลอดจนระบบสุขภาพของประเทศ ในบริบทของการบูรณาการเชิงภูมิภาคของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ของลัทธิเสรีนิยมใหม่ในฐานะของระเบียบโลกใหม่ ที่ก่อให้เกิดความตึงเครียดและผลกระทบต่อผู้คนกลุ่มต่างๆ ในท้องถิ่น ซึ่งผู้คนเหล่านี้จำนวนไม่น้อยมิได้นิ่งเฉยเป็นผู้ถูกกระทำแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ได้แสดงออกถึงความพยายามในการตอบโต้และผลิตสร้างนวัตกรรมทางสังคมในรูปแบบต่างๆ ในการดำรงไว้ซึ่งวิถีการดำรงชีพที่ยั่งยืนอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ดังนั้นนอกเหนือจากการสร้างและสะสมองค์ความรู้ใหม่แล้ว หลักสูตรนี้ยังมุ่งให้เกิดการแก้ปัญหาความไม่เสมอภาคกันในด้านต่างๆ โดยการแสวงหาทางเลือกเชิงนโยบายและรูปแบบการปฏิบัติในการแก้ปัญหา เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้คนและกลุ่มทางสังคมที่หลากหลายในท้องถิ่น ให้มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจกำหนดนโยบาย และเสนอทางเลือกในการพัฒนาที่มีผลโดยตรงต่อวิถีชีวิตของพวกเขา ตลอดจนเสริมสร้างอำนาจและศักยภาพของผู้คนเหล่านี้ ให้สามารถดำรง รักษาและฟื้นฟูสภาพการดำเนินชีวิตในกระแสการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

หลักสูตรนี้ให้ความสำคัญกับการใช้เครื่องมือทางแนวคิดเชิงทฤษฎีและวิธีวิทยาทางสังคมศาสตร์ในการวิเคราะห์และสร้างคำอธิบายการ เปลี่ยนแปลงของสังคม แนวทางการแก้ปัญหา ปรับกระบวนการพัฒนาและการเสริมสร้างความมั่นคงของวิถีชีวิตของผู้คนกลุ่มต่างๆ ซึ่งจำแนกออกได้ 4 แขนงวิชา คือ

แขนงที่ 1 การศึกษาการพัฒนา (Development Studies)
เป็นการศึกษาการพัฒนาที่นำเอาทฤษฎีทางสังคม-วัฒนธรรม และทฤษฎี การพัฒนาร่วมสมัยมาวิเคราะห์และสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับปัญหาการพัฒนาที่มีความเป็นพลวัตทั้งในมิติของพื้นที่และเวลา โดยเน้นไปที่ปัญหาปัจจุบันของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กำลังอยู่ในกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การบูรณาการทางพื้นที่ เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม และการเมือง ซึ่งผู้คนต้องเผชิญกับผลกระทบของการพัฒนาที่มีต่อฐานทรัพยากรในการดำรงชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ดิน ระบบนิเวศแม่น้ำป่าไม้ การประมง และบริการทางนิเวศอื่นๆ ปัญหาการพัฒนาเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงเชิงเศรษฐกิจ-การเมือง และภูมิรัฐศาสตร์ที่ระเบียบโลกของเสรีนิยมใหม่กำลังแผ่ขยายอิทธิพลข้ามเขตแดนในระดับต่างๆ ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายถ่ายเทของผู้คน ทุน แรงงานและข้อมูลข่าวสารที่ได้รับการเร่งเร้าจากการพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านการคมนาคมและการสื่อสาร

แขนงที่ 2 ชาติพันธุ์สัมพันธ์และการพัฒนา (Ethnicity and Development)
เป็นการศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์ ในมิติทางประวัติศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจและการพัฒนา ในพลวัตรัฐชาติสมัยใหม่และอิทธิพลของเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ เป็นวิธีวิทยาเพื่อทำความเข้าใจต่อคุณค่าของความหลากหลายทางวัฒนธรรม สิทธิมนุษยชน อันนำไปสู่การแสวงหาวิธีการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคมพหุวัฒนธรรม รวมทั้งตระหนักถึงศักยภาพของภูมิปัญญาท้องถิ่นและการปรับตัวของกลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มทางสังคมอื่นๆ ในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ท่ามกลางกระแสการพัฒนายุคโลกาภิวัตน์

แขนงที่ 3 สังคมศาสตร์สุขภาพ (Health Social Sciences)
การให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสุขภาพในมิติทางสังคมศาสตร์ โดยเน้นการสร้างความเข้าใจและเสริมสร้างงานด้านสุขภาพ และสุขภาวะ (Well-being) อย่างเป็นองค์รวมภายใต้บริบทการปฏิสัมพันธ์ระหว่างระบบสังคมและนิเวศวิทยา ทั้งในพื้นที่เมืองและชนบท โดยเฉพาะประเด็นปัญหาสุขภาพที่เชื่อมโยงกับระบบเกษตร อุตสาหกรรม อาหาร พลังงาน และสิ่งแวดล้อม ภายใต้กลุ่มสังคมที่หลากหลายทางด้านชนชั้น เพศภาวะ ชาติพันธุ์ และช่วงวัย

แขนงที่ 4 สตรีศึกษาและเพศภาวะศึกษา (Women’s and Gender Studies)
เน้นการสร้างและเสริมองค์ความรู้ทางด้านสตรีศึกษาและเพศภาวะศึกษาที่มีลักษณะเชิงวิพากษ์และสหสาขาวิชา (Critical Interdisciplinary) ที่ครอบคลุมศาสตร์ต่าง ๆ ทั้งมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และอื่น ๆ โดยให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงการพัฒนาในประเด็นปัญหาสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม แบบเชื่อมโยงบนรากฐานของระเบียบทฤษฏีพลวัตระหว่างหน่วยย่อยทางสังคม (Intersectionality Theory) ซึ่งให้ความสำคัญกับการใช้หน่วยวิเคราะห์ที่หลากหลาย อาทิเช่น ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างหญิงชาย เพศภาวะ ชนชั้น ชาติพันธุ์ และอายุ เพื่อบรรลุเป้าหมายสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นธรรมทางเพศและเพศภาวะ
และพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อสิทธิสตรี ทั้งในระดับท้องถิ่น ประเทศ ภูมิภาค และนานาชาติ โดยคำนึงถึงประสบการณ์และคุณภาพชีวิตของผู้หญิง ผู้มีเพศภาวะหลากหลายและกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม

นอกจากนั้น หลักสูตรนี้ยังมุ่งที่จะสร้างสรรค์และพัฒนาวิธีการศึกษาและวิจัยที่เน้นการสร้างองค์ความรู้จากการนำเอาแนวคิดทฤษฎีไปใช้ในการปฏิบัติการงานวิจัยในพื้นที่ ด้วยการประยุกต์ใช้แนวคิดที่มีความเป็นนามธรรมในระดับต่างๆ ให้สามารถวิเคราะห์ปัญหาการการเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างเป็นรูปธรรม โดยนำเอากรณีศึกษาที่ได้มาจากประสบการณ์จริงในระดับท้องถิ่น แต่ในขณะเดียวกันก็คำนึงถึงความสอดคล้องกับเงื่อนไขและบริบททางสังคม สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมในระดับต่างๆ ด้วย


คุณสมบัติผู้เข้าศึกษา

หลักสูตร แบบ 1
1. เป็นไปตามประกาศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่องการรับสมัครเข้าศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษาในแต่ละปีการศึกษา
2. เป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่าทุกสาขาวิชา มีผลการศึกษาได้ค่าลำดับขั้นสะสมเฉลี่ยทั้งหมดไม่น้อยกว่า 2.5 หรือเทียบเท่าจากสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ
3. พื้นฐานความรู้ความสามารถ และศักยภาพเพียงพอที่จะทำวิทยานิพนธ์ได้ โดยให้เป็นไปตามเงื่อนไขของคณะกรรมการบริหารหลักสูตรบัณฑิตศึกษาประจำสาขาวิชา
4. มีความรู้ภาษาอังกฤษตามเงื่อนไขของบัณฑิตวิทยาลัย
5. คุณสมบัติอื่น ๆ ให้เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาพ.ศ. 2559
6. คุณสมบัตินอกเหนือจากนี้ ให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการบริหารหลักสูตรประจำสาขาวิชา

หลักสูตรแบบ 2
1. ให้เป็นไปตามประกาศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่องการรับสมัครเข้าศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษาในแต่ละปีการศึกษา
2. เป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี หรือเทียบเท่าจากสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ
3. มีความรู้ภาษาอังกฤษตามเงื่อนไขของบัณฑิตวิทยาลัย
4. คุณสมบัติอื่น ๆ ให้เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2559
5. คุณสมบัตินอกเหนือจากนี้ ให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการบริหารหลักสูตรประจำสาขาวิชา


อาชีพหลังสำเร็จการศึกษา

- นักวิจัย
- อาจารย์/นักวิชาการ
- นักพัฒนาชุมชน
- นักพัฒนาองค์กรทั้งใน และต่างประเทศ
- ผู้ฝึกอบรมความรู้ทางด้านสังคมศาสตร์


โครงสร้างหลักสูตร/แผนการศึกษา
โครงสร้างหลักสูตร ดาวน์โหลด
แผนการศึกษา ดาวน์โหลด
หลักสูตร ดาวน์โหลด