แนะนำคณะสังคมศาสตร์


คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2507 เป็น 1 ใน 3 คณะ (คณะมนุษยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และคณะสังคมศาสตร์) ที่เกิดขึ้นพร้อมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่คณะสังคมศาสตร์เปิดสอนวันแรก  เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2507  มีนักศึกษา 75 คน  อาจารย์ 15 คน ช่วงแรกของการก่อตั้งมี  5  ภาควิชา ได้แก่ ภาควิชาภูมิศาสตร์  (เป็นภาควิชาภูมิศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทย) ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา  ภาควิชาเศรษฐศาสตร์  ภาควิชาบัญชีและบริหารธุรกิจ และภาควิชารัฐศาสตร์ โดยเปิดสอนระดับปริญญาตรีเมื่อปี พ.ศ. 2507 ใน 3 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาภูมิศาสตร์ หลักสูตรเศรษฐศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ และหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ต่อมาปี พ.ศ. 2525  ได้จัดการเรียนการสอนระดับปริญญาโทสาขาวิชาภูมิศาสตร์ และสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ ปีพ.ศ. 2539  เปิดสอนระดับปริญญาโทสาขาพัฒนาสังคม และปีพ.ศ. 2544 เปิดสอนระดับปริญญาเอกสาขาวิชาสังคมศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ)

การปรับโครงสร้างคณะเกิดขึ้นเมื่อหลายภาควิชามีศักยภาพขยายองค์ความรู้วิชาการ และบริหารจัดการองค์กรใหม่สามารถจัดตั้งเป็นคณะได้ ได้แก่ ภาควิชาบริหารธุรกิจ เมื่อ พ.ศ. 2535 ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ เมื่อพ.ศ.2535 ภาควิชารัฐศาสตร์ เมื่อพ.ศ.2548 และสาขาวิชานิติศาสตร์ เมื่อพ.ศ.2549

ปัจจุบัน  คณะสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นสถาบันการศึกษาด้านสังคมศาสตร์ติดอันดับ 1 ใน 3 ของประเทศ  มีเครือข่ายวิชาการกับมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก และมีความเชี่ยวชาญทางสังคมศาสตร์เป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ สามารถเปิดหลักสูตรภาษาไทย และนานาชาติได้ทั้ง 3 ระดับ (ปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก) สะท้อนจุดเด่นความเชี่ยวชาญคณาจารย์ องค์ความรู้ศึกษาประเด็นปัญหาสังคมที่ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและสังคมสมัยใหม่ระดับภูมิภาคและระดับโลก อาทิ หลักสูตรสังคมศาสตร์การพัฒนา หลักสูตรอาเซียนศึกษา หลักสูตรภูมิศาสตร์และภูมิสารสนเทศ นอกจากนี้ คณะสังคมศาสตร์พัฒนาและขยายองค์ความรู้ให้บริการวิชาการผ่านศูนย์วิจัยและบริการวิชาการที่สำคัญ ได้แก่ ศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Regional Center for Social Science Sustainable Development: RCSD) ศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (ภาคเหนือ) (GISTNORTH) ศูนย์ภูมิภาคเพื่อการศึกษาด้านภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (Regional Center for Climate and Environmental Studies: RCCES) ศูนย์สตรีศึกษา (Women Studies Center: WSC) ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา (Center for Ethnic Studies and Development: CESD) และศูนย์จีน-อุษาคเนย์ศึกษา (China - South East Asian Center: CSC) รวมทั้งยังเป็นที่ตั้งศูนย์อินเดียศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Indian Studies Center Chiang Mai University : ISCCMU) ด้วย

คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศในด้านสังคมศาสตร์ มุ่งมั่นพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และสังคมตามพันธกิจหลัก 3 ด้าน คือ การจัดการศึกษา การวิจัย และบริการวิชาการที่สามารถสร้างนวัตกรรมทางสังคมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติและระดับนานาชาติ ภายใต้วิสัยทัศน์ของคณะสังคมศาสตร์ที่ว่า “วิชาการเข้มแข็ง พัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน” (พ.ศ. 2564-2567)


วิสัยทัศน์

วิชาการเข้มแข็ง พัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน


พันธกิจ

1. ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นเลิศ มีคุณธรรม และรับผิดชอบต่อสังคม
2. ผลิตงานวิจัยด้านสังคมศาสตร์เพื่อพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน
3. บริการวิชาการแก่ชุมชนทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ


ค่านิยม

การมุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศ รับใช้สังคม คุณธรรมและความโปร่งใส
ประสานพลังบนความหลากหลาย


กลยุทธ์

1. พัฒนากลไก ผลักดันการวิจัยชั้นแนวหน้าและเทคโนโลยีเชิงลึก

2. สร้างระบบนิเวศน์ที่เอื้อต่อการบูรณาการองค์ความรู้ในการจัดการศึกษา วิจัย และนวัตกรรมผ่านรูปแบบการทำงานที่เหมาะสม

3. ส่งเสริมการนำผลงานสร้างสรรค์และนวัตกรรมที่มีผลกระทบสูงการใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสังคม สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ยั่งยืน

4. พัฒนากลไกในการผลักดันการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการศึกษาเพื่อรองรับทักษะแห่งอนาคต

5. พัฒนากลไกในการสร้างโอกาสและความเท่าเทียมทางการศึกษาให้คนทุกกลุ่มและทุกช่วงวัยสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ระดับมหาวิทยาลัยได้

6. สร้างรูปแบบการบริหารจัดการที่เป็นเลิศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน






































การปรับโครงสร้างองค์การ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  

ตามประกาศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง การแบ่งหน่วยงานในส่วนงาน วิชาการและส่วนงานอื่น พ.ศ. 2558 ลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 255  ดังนี้

1.  สำนักงานคณะ
2.  ภาควิชาภูมิศาสตร์
3.  ภาควิชาสตรีศึกษา
4.  ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
5.  ภาควิชาสังคมศาสตร์กับการพัฒนา
6.  ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ





รายงานประจำปี 2563
Link

รายงานประจำปี 2562
Link

รายงานประจำปี 2561
Link

รายงานประจำปี 2559
Link

รายงานประจำปี 2564
Link

รายงานประจำปี 2566
Link